เริ่มต้นด้วยมุ่งมั่น สารฝันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยี

Categories: 

เริ่มต้นด้วยมุ่งมั่น สารฝันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยี

“การที่ผู้เรียนมีเป้าหมายในการเรียน การฝึกหรือพัฒนาตั้งแต่ต้น ควบคู่กับการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายและสานฝันให้เป็นจริงได้”

ท่านผู้อ่านครับ ใจความดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นทัศนะของผู้เขียน ที่มุ่งนำเสนอให้เกิดประเด็นคิด เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น หรือคนตาบอด ในโลกยุคปัจจุบัน โลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลง โลกยุคศตวรรษที่ 21 คำสำคัญเหล่านี้ที่ท่านผู้อ่านก็คงคุ้นเคยกันดี ทว่า เราต่างเข้าใจ นิยามความหมาย ความพลวัตของสังคมโลกในมุมมองที่ต่างกัน

สถานการณ์ปัจจุบันของผู้เรียนตาบอดในโลกยุคดิจิทัล มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก เราอาจเห็นผู้เรียน   ตาบอดหลายคน ประสบความสำเร็จหรือได้เรียนในศาสตร์สาขาวิชาที่เป็นศาสตร์วิชาสาขาใหม่มองมุมนี้     อาจบ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้เรียนตาบอดได้พัฒนาไปไกลจากเดิมมากแล้ว หากแต่ มีอีกไม่น้อยที่ความพลวัตในโลก  ยุคดิจิทัล ส่งผลให้ผู้เรียนตาบอดต้องยุติการเรียนกลางคัน แน่นอนว่า อาจมีหลายสาเหตุหลากปัจจัย             ส่งผลให้ผู้เรียนตาบอดตัดสินใจยุติการเรียน จากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน      ตาบอดในระดับอุดมศึกษาอยู่ไม่น้อย พบว่า ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการคิดหรือการตัดสินใจนั้น คือการเข้าถึงและปรับตัวกับความพลวัตในโลกยุคดิจิทัล เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพนั้นชัดเจนขึ้น จึงขอยกตัวอย่างสถานการณ์    ที่อิงมาจากประสบการณ์จริงของผู้เขียนสักหนึ่งสถานการณ์ครับ  สถานการณ์ที่ 1 การเข้าถึงตารางในโปรแกรมประมวลผลคำ (Microsoft Office Word) จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า การเข้าถึงที่ดีนั้นโปรแกรมนี้ผู้เรียน    ตาบอดจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก คีย์ลัดในการกด เพื่อนำทางไปยังส่วนต่าง ๆ ของตาราง เป็นอุปสรรคในการอ่านข้อมูลที่ปรากฏในตารางไม่น้อย การเลือกแก้ไขข้อมูล ก็ต้องใช้คีย์ลัดอีก ตารางที่มีขนาดช่องหรือเซลล์ไม่เท่ากัน โปรแกรมอ่านจอภาพจะเลื่อนข้ามไปมา ผู้เรียนจะต้องใช้ทักษะในการควบคุมโปรแกรมอ่านจอภาพเป็นอย่างมาก ข้างต้นนี้ผู้เรียนตาบอดจะพบปัญหามากมาย ได้แก่

1) กรอกข้อมูลไม่ตรงเซลล์

2) อ่านตารางเข้าใจไม่ทั้งหมด หรือนำข้อมูลออกมาจากตารางไม่ได้ เมื่ออ่านไม่เข้าใจก็ไม่เห็นภาพหรือชุดข้อมูลที่ตารางต้องการนำเสนอ

สรุปความได้ว่า การเข้าถึงข้อมูลที่มีอุปสรรคเช่นสถานการณ์นี้ หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งคอยบั่นทอนผู้เรียนตาบอดในการเรียนรู้อยู่เนืองๆ อีกทั้งความรู้บางประเภท เช่นความรู้เฉพาะด้าน ยิ่งเป็นภาษาไทยด้วยแล้ว แทบไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้เลย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น หลักคิด ของผู้เขียน ในฐานะครู ผู้จัดการศึกษาในยุคนี้มักตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า"เราจะพัฒนาผู้เรียนตาบอดให้อยู่ในโลกดิจิทัลได้ด้วยวิธีการใด และอย่างไรบ้าง?" หากทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือคำตอบ ภาพรวมที่มีลักษณะเป็นผลลัพธ์ของการริเริ่มที่จะพัฒนาผู้เรียนควรจะมีกิจกรรม หรือวิธีการใดได้บ้าง ผู้เขียนจึงมีประเด็นชวนคิด ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพด้วยกันครับ

ผู้เขียนเห็นว่า"การเข้าถึงสื่อหรือเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ การฝึก          การพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การประกอบอาชีพ การสร้างสรรค์ผลงาน "โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้น ของการจัดมวลประสบการณ์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการศึกษาให้กับผู้เรียนในภาคเหนือ ของประเทศไทย รวมถึงกลุ่มผู้เรียนหลากชาติพันธุ์ ที่ได้รับโอกาส         ทางการศึกษา โดยโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ และมุ่งให้ผู้เรียนเกิดทักษะทางเทคโนโลยี ในแง่ของการเข้าถึงและปรับตัวกับความพลวัตในโลกยุคดิจิทัลนั้น การจัดการศึกษา จึงควรเกิดผลลัพธ์ซึ่งเป็นภาพของการพัฒนา      3 ส่วนด้วยกันคือ

ส่วนที่ 1  ด้านเป้าหมายในชีวิต ผู้เรียนควรเห็นภาพของเป้าหมายในชีวิตของตนเอง ในหลากหลายแง่มุม กล่าวคือ ผู้เรียนมีความฝัน และเกิดความมุ่งมั่น

ส่วนที่ 2 ด้านวิชาความรู้ทั่วไปและทักษะทางเทคโนโลยี โดยมีหลายปัจจัย ที่ต้องจัดมวลประสบการณ์และความรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน จึงจะพัฒนาเพื่อให้เกิดทักษะทางเทคโนโลยีได้ เช่น

1) การจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนต้องรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ รู้หลักของการอ่านเขียน ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยรหัสอักษรเบรลล์ หรือหลักภาษาอักษรปกติทั่วไป ซึ่งกระบวนการพัฒนาและจัดประสบการณ์ของผู้เรียนที่สำคัญก็คือ ทำให้รู้ ให้จำ และเข้าใจ ตลอดจนการนำไปใช้

2) สามารถพิมพ์คอมพิวเตอร์ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยได้คล่อง ผู้เรียนจะได้รับการฝึก เพื่อให้จำและคุ้นชินกับการกดปุ่มแป้นพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ และควรจำให้ได้ทั้งหมด

3) จัดการเรียนรู้เพื่อฝึกให้คิด แก้ปัญหา หาสาเหตุ ในหลากหลายสถานการณ์ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการจัดมวลประสบการณ์เรียนรู้ให้กับผู้เรียนเป็นอย่างมาก ดังกล่าวข้างต้น เป็น 3 ปัจจัย ที่ผู้เขียน    เห็นว่าเป็นปัจจัยที่เอื้อเพื่อให้เกิดทักษะทางเทคโนโลยีได้ ต่อมาผู้เรียนจึงจะได้เรียนรู้ทักษะ ที่เกี่ยวกับซอฟแวร์ ด้วยสถานการณ์ต่างๆ เช่น การใช้โปรแกรมเอกสาร การกรอกข้อมูลในลักษณะของฟอร์ม เรียนรู้การเข้าถึงข้อมูลด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหล่านี้ ล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้สร้างความคุ้นเคยกับการเข้าถึงข้อมูล และเกิดทักษะในที่สุด

ส่วนที่ 3 ด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือที่ผู้เขียนกล่าวในบริบทของการเข้าถึงและปรับตัวกับความพลวัตในโลกยุคดิจิทัล ส่วนนี้มุ่งให้ผู้เรียนเกิดทักษะในหลายด้าน เช่น

- ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา

- ทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน

- ทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

- ทักษะการเรียนรู้และปรับตัว

- ทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ

เมื่อผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และนำเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมเติมฝันให้เป็นจริงได้ ดังตัวอย่าง เช่น

- เข้าถึงข้อมูลที่กว้างขึ้น เมื่อมีทักษะตามผลลัพธ์ข้างต้น ผู้เรียนจะได้อ่านหนังสือที่ตนสนใจ:ด้วยการใช้เทคโนโลยี OCR จากภาพมาเป็นตัวหนังสือ

- มีเทคนิคในการทำงานที่เฉพาะตัว สามารถสร้างหน้าเพจน์ด้วยภาษา Html ผสมกับการประยุกต์ใช้ Google Appเพื่อฝังโค้ดอำนวยความสะดวกไว้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับงานของตนเองได้

- ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจะลดลง นักดนตรีตาบอดจะเขียนบรรทัดห้าเส้นด้วย Midi Keyboard และใช้ โปรแกรม MuseScore สร้างโน้ตเพลงบรรทัดห้าเส้นให้คนสายตาปกติเห็นและเข้าใจร่วมกันได้ เป็นต้น เช่นนี้แล้ว กระบวนการจัดการเรียนรู้ จึงเป็นตัวแปรสำคัญอันอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการพัฒนาดังได้กล่าวมาได้

ผู้เขียนเห็นว่าผู้เรียนตาบอดควรได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น โดยการจัดการเรียนรู้มีลักษณะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนา 3 ด้าน ดังนี้

ด้านเป้าหมายในชีวิต : ผู้เรียนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความฝันและความมุ่งมั่นในการใช้ชีวิต ด้านวิชาความรู้ทั่วไปและทักษะทางเทคโนโลยี : ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานในวิชาต่างๆ รวมถึงทักษะทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 : ผู้เรียนพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในทุกด้าน โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ ผ่านสถานการณ์จริง ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับผู้เรียนตาบอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงและปรับตัวกับความพลวัตในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น

 

 

นายวิทวัส พรมโชติ ครู โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย